หน้าเว็บ

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ข้อมูลประเทศบรูไน


เนการาบรูไนดารุสซาลาม


บรูไน หรือ เนการาบรูไนดารุสซาลาม เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ชายฝั่งทางด้านเหนือจรดทะเลจีนใต้ พรมแดนทางบกที่เหลือจากนั้นถูกล้อมรอบด้วยรัฐซาราวัก มาเลเซียตะวันออก บรูไนเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเป็นสินค้าหลัก





    ชื่อทางการ : เนการาบรูไนดารุสซาลาม (Negara Brunei Darussalam แปลว่า ดินแดนแห่งความสงบสุข)
    ที่ตั้ง : ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว (ละติจูดที่ เหนือเส้นศูนย์สูตร) แบ่งเป็นสี่เขตคือ เขต Brunei-Muara เขต Belaitเขต Temburong และเขต Tutong

    พื้นที่ :  5,765 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ร้อยละ 70 เป็นป่าไม้
    เขตร้อน 



    เมืองหลวง  : บันดาร์เสรีเบกาวัน (Bandar Seri Begawan)

    ประชากร :  370,00 คน (2548) ประกอบด้วย มาเลย์ (66%) จีน (11%) และอื่น ๆ (23%) มีอัตราการเพิ่มของประชากรปีละ 2 %

    ภูมิอากาศ :  อากาศโดยทั่วไปค่อนข้างร้อนชื้น มีปริมาณฝนตกค่อนข้างมาก อุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส

    ภาษา  : ภาษามาเลย์ (Malay หรือ Bahasa Melayu) เป็นภาษาราชการรองลงมาเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน

    ศาสนา :  ศาสนาประจำชาติคือ ศาสนาอิสลาม (67%) ศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ ศาสนาพุทธ (13%) ศาสนาคริสต์ (10%) และฮินดู

    หน่วยเงินตรา : ดอลลาร์บรูไน (Brunei Dollar) ประมาณ 1.61 ดอลลาร์บรูไน/ ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24 บาท/ ดอลลาร์บรูไน (เงินดอลลาร์บรูไนมีมูลค่าเท่ากับเงินดอลลาร์สิงคโปร์และสามารถใช้แทนกันได้)

    ระบอบการปกครอง :  สมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัลโบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (His Majesty Sultan HajiHassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah) ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศตั้งแต่วันที่ ตุลาคม 2510

สังคมและนโยบายประเทศบรูไน

                                          


 สังคม


                บรูไนฯ มีระบบรัฐสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ โดยรัฐให้หลักประกันด้านการศึกษา การเคหะและการรักษาพยาบาล และไม่มีการเก็บภาษีเงินได้ ทำให้บรูไนฯ ไม่ค่อยประสบปัญหาทางการเมือง อย่างไรก็ดี ปัญหาสังคมที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และปัญหาการว่างงาน

                                     



   นโยบายต่างประเทศ


                วัตถุประสงค์หลักของนโยบายต่างประเทศบรูไนฯ คือการส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ อันได้แก่ การรักษาอธิปไตย อิสรภาพและบูรณภาพแห่งดินแดน การสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคม และการรักษาเอกลักษณ์ทางการเมือง วัฒนธรรมและศาสนา รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพและความรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก


                
บรูไน  ใช้กลไกพหุภาคีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง เสริมสร้างความมั่นคงและผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาเซียน (ซึ่งถือเป็นเสาหลักของนโยบายต่างประเทศบรูไนฯ) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก การประชุมเอเชีย-ยุโรป กลุ่มประเทศเครือจักรภพ องค์การการประชุมอิสลาม และสหประชาชาติ ในระดับทวิภาคี บรูไนฯ พยายามเป็นมิตรกับนานาประเทศทั้งในด้านการค้าและการลงทุนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันประเทศ


                
หลักการดำเนินนโยบายต่างประเทศของบรูไน ฯ ที่สำคัญ ได้แก่ การเคารพในอธิปไตย อิสรภาพ และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศต่าง ๆ การยอมรับในสถานภาพที่เท่าเทียมกันของประเทศต่าง ๆ การไม่แทรกแซงในกิจการภายในซึ่งกันและกัน การแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธีและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน


                
การที่ประมุขของประเทศซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลเสด็จ ฯ เยือนประเทศต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองเพื่อสร้างบทบาทของบรูไน ฯ ในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้บรูไน ฯ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 


                
ในปี 2547 และ 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จ ฯ เยือนต่างประเทศบ่อยครั้ง เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ และเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบรูไน ฯ มีนโยบายต่างประเทศที่ต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น) ประเทศในตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดในอาเซียน นอกจากนี้ บรูไนฯ ได้เสริมบทบาทของตนในภูมิภาคมากขึ้นโดยได้ส่งกองกำลังเข้าสังเกตการณ์การหยุดยิงระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front– MILF) ในมินดาเนา และบรูไนฯ ยังได้ร่วมใน peace-monitoring mission ในจังหวัดอาเจะห์ด้วย


                
ในปี 2548 บรูไน ฯ มุ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่นำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (เช่น จีน) ให้มากขึ้น โดยรัฐบาลบรูไน ฯ คาดว่าจีนจะยังคงมีความต้องการพลังงานมากขึ้น รวมทั้งบรูไน ฯ จะเป็นทางเลือกที่จีนจะร่วมเป็นพันธมิตรในการสำรวจและพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติกับบรูไน ฯ นอกเหนือจากมาเลเซีย ขณะที่สิงคโปร์เล็งเห็นว่าบรูไน ฯ เป็นประเทศที่น่าสนใจที่จะเป็นทางเลือกในการหาแหล่งพลังงานสำรองในอนาคตเพิ่มเติมจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในปัจจุบัน


                
บรูไนฯ สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคีนิยม(multilateralism) โดยเฉพาะในการดำเนินการของประชาคมระหว่างประเทศภายใต้ “Millennium Goals” และมองว่าปัญหาที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้นและส่งผลกระทบในวงกว้าง ปัญหาที่เกิดในประเทศหนึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ด้วย ฉะนั้นการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคง ความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของสังคมระหว่างประเทศนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศ

เศรษฐกิจประเทศบรูไน




                                    เศรษฐกิจการค้า

                1. บรูไน ฯ มีน้ำมันมากเป็นอันดับสามในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย จึงมีรายได้หลักจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซมีมูลค่ากว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยส่งออกไปยังญี่ปุ่น อังกฤษ ไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในรอบปี 2547 และ 2548 ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 รัฐบาลได้จัดตั้งบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ (Petroleum Brunei) เพื่อเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายน้ำมันและก๊าซ ในขณะเดียวกัน บรูไนฯ นำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากสิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐฯ มาเลเซีย โดยเป็นสินค้าประเภทเครื่อง
จักรอุตสาหกรรม รถยนต์ เครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ต่าง ๆ และสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวและผลไม้

             
            2. บรูไน ฯ มีอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมันอยู่บ้าง อาทิ การผลิตอาหารและเครื่องมือ การผลิตเสื้อผ้า เพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในยุโรปและอเมริกา ทั้งนี้ รัฐบาลบรูไนฯ มุ่งที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการแปรรูปอาหารและผลิตเครื่องดื่ม เสื้อผ้า และสิ่งทอ เครื่องเรือนจากไม้ วัสดุก่อสร้างที่ไม่ใช่โลหะ การผลิตแก้วเพื่อใช้ทำกระจกรถยนต์ อย่างไรก็ดี การพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากมีอุปสรรคต่าง ๆ อาทิ การขาดช่างฝีมือ ตลาดเล็ก ความไม่กระตือรือร้นของข้าราชการ การห้ามชาวต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดิน รวมทั้งกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ต่างชาติไม่นิยมมาลงทุน

                3. สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่บรูไน ฯ ได้พัฒนาอย่างจริงจังในปี 2548 คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวประจำปี 2548 ไว้แล้วจำนวน 1.6 ล้านดอลลาร์บรูไนฯ หลังจากที่ผลประกอบการด้านการท่องเที่ยวในปี 2547 มีการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ มีนักท่องเที่ยวเยือนบรูไน ฯ มากกว่า100,000 คน โดยรัฐบาลบรูไน ฯ จะเน้นการเป็นประเทศที่มีความสงบและปลอดภัยเป็นจุดขาย

                4. 
บรูไน  กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลักไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีบทบาทมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนกับต่างประเทศและมีมาตรการเปิดเสรีด้านการค้าและสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ไม่เฉพาะแต่บริษัทในประเทศ แต่รวมถึงประเทศต่าง ๆ จากกลุ่มอาเซียนและนานาประเทศด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลบรูไน ฯ มีนโยบายพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าและท่องเที่ยว (Service Hub for Trade and Tourism – SHuTT 2003 Vision) และเป็นตลาดการขนถ่ายสินค้า ที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นเป้าหมายประการหนึ่งของโครงการความร่วมมือของกลุ่ม Brunei-Indonesia- Malaysia-Philippines-East ASEAN Growth Area (BIMP-EAGA)

การเมืองการปกครองประเทศบรูไน

               


                        การเมืองการปกครองของประเทศบรูไน

              1. รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ มกราคม 2527 กำหนดให้สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นอธิปัตย์ คือเป็นทั้งประมุขและนายกรัฐมนตรี สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันยังทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นชาวบรูไนฯ เชื้อสายมาเลย์โดยกำเนิดและจะต้องนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ 

                2. นับจากการพยายามยึดอำนาจเมื่อปี 2505 โดยพรรคประชาชนบอร์เนียว (Borneo People’s Party) บทบาทของพรรคการเมืองได้ถูกจำกัดลงอย่างมาก ปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงพรรคเดียวคือ พรรค Parti Perpaduan Kebangsaan Brunei (PPKB) หรือ Brunei National United Party (แยกตัวออกมาจากพรรค Parti Kebaangsaan Demokratic Brunei (PKDP) เมื่อปี 2528) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล แต่ไม่มีบทบาทนัก ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่าบรูไน ฯ ไม่มีความจำเป็นต้องมีพรรคการเมือง เนื่องจากประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น หรือขอความช่วยเหลือจากข้าราชการของสมเด็จพระราชาธิบดีได้อยู่แล้ว
     
           3. การเมืองเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่สำคัญเมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีทรงประกาศเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 ให้ฟื้นฟูสภานิติบัญญัติขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับทรงแต่งตั้งสมาชิกจำนวน 21 คน (รวมทั้งพระองค์เอง) สภา ฯ เปิดสมัยการประชุม ครั้งที่ เมื่อวันที่25 กันยายน 2547 และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2547 สมเด็จพระราชาธิบดีได้ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติต่าง ๆ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1959 ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวน 15 คน จากสมาชิกทั้งหมด 45 คน (สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ฯ จะทรงคัดเลือกสมาชิกจำนวน 30 คน) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของบรูไน ฯ พัฒนาการดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีจากต่างประเทศ นักวิชาการ รวมทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ 

                4. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีทรงประกาศปรับคณะรัฐมนตรีครั้งสำคัญในรอบ 22 ปี โดยทรงแต่งตั้งมกุฎราชกุมารอัล มูห์ทาดี บิลลาห์ ให้ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวทางการสืบทอดอำนาจในการบริหารประเทศในอนาคต นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งกระทรวงพลังงานขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ดูแลการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ กระทรวง รวมทั้งการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจที่มีความชำนาญและผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นว่าสมเด็จพระราชาธิบดีบรูไน ฯ ให้ความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคพลังงาน รวมทั้งการพัฒนาประเทศให้เป็นมุสลิมสายกลางมากขึ้น เพื่อให้บรูไน ฯ เจริญทัดเทียมประเทศอื่น เพิ่มการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและสามารถแข่งขันได้มากขึ้นในบางภาคเศรษฐกิจ