การเมืองการปกครองของประเทศบรูไน
1. รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 1 มกราคม 2527 กำหนดให้สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นอธิปัตย์ คือเป็นทั้งประมุขและนายกรัฐมนตรี สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันยังทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นชาวบรูไนฯ เชื้อสายมาเลย์โดยกำเนิดและจะต้องนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่
2. นับจากการพยายามยึดอำนาจเมื่อปี 2505 โดยพรรคประชาชนบอร์เนียว (Borneo People’s Party) บทบาทของพรรคการเมืองได้ถูกจำกัดลงอย่างมาก ปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงพรรคเดียวคือ พรรค Parti Perpaduan Kebangsaan Brunei (PPKB) หรือ Brunei National United Party (แยกตัวออกมาจากพรรค Parti Kebaangsaan Demokratic Brunei (PKDP) เมื่อปี 2528) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล แต่ไม่มีบทบาทนัก ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่าบรูไน ฯ ไม่มีความจำเป็นต้องมีพรรคการเมือง เนื่องจากประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น หรือขอความช่วยเหลือจากข้าราชการของสมเด็จพระราชาธิบดีได้อยู่แล้ว
3. การเมืองเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่สำคัญเมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีทรงประกาศเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 ให้ฟื้นฟูสภานิติบัญญัติขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับทรงแต่งตั้งสมาชิกจำนวน 21 คน (รวมทั้งพระองค์เอง) สภา ฯ เปิดสมัยการประชุม ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่25 กันยายน 2547 และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2547 สมเด็จพระราชาธิบดีได้ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติต่าง ๆ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1959 ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวน 15 คน จากสมาชิกทั้งหมด 45 คน (สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ฯ จะทรงคัดเลือกสมาชิกจำนวน 30 คน) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของบรูไน ฯ พัฒนาการดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีจากต่างประเทศ นักวิชาการ รวมทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ยังเคลื่อนไหวอยู่
4. เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีทรงประกาศปรับคณะรัฐมนตรีครั้งสำคัญในรอบ 22 ปี โดยทรงแต่งตั้งมกุฎราชกุมารอัล มูห์ทาดี บิลลาห์ ให้ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวทางการสืบทอดอำนาจในการบริหารประเทศในอนาคต นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งกระทรวงพลังงานขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ดูแลการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ 4 กระทรวง รวมทั้งการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจที่มีความชำนาญและผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นว่าสมเด็จพระราชาธิบดีบรูไน ฯ ให้ความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคพลังงาน รวมทั้งการพัฒนาประเทศให้เป็นมุสลิมสายกลางมากขึ้น เพื่อให้บรูไน ฯ เจริญทัดเทียมประเทศอื่น เพิ่มการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและสามารถแข่งขันได้มากขึ้นในบางภาคเศรษฐกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น