หน้าเว็บ

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สังคมและนโยบายประเทศบรูไน

                                          


 สังคม


                บรูไนฯ มีระบบรัฐสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ โดยรัฐให้หลักประกันด้านการศึกษา การเคหะและการรักษาพยาบาล และไม่มีการเก็บภาษีเงินได้ ทำให้บรูไนฯ ไม่ค่อยประสบปัญหาทางการเมือง อย่างไรก็ดี ปัญหาสังคมที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และปัญหาการว่างงาน

                                     



   นโยบายต่างประเทศ


                วัตถุประสงค์หลักของนโยบายต่างประเทศบรูไนฯ คือการส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ อันได้แก่ การรักษาอธิปไตย อิสรภาพและบูรณภาพแห่งดินแดน การสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคม และการรักษาเอกลักษณ์ทางการเมือง วัฒนธรรมและศาสนา รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพและความรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก


                
บรูไน  ใช้กลไกพหุภาคีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง เสริมสร้างความมั่นคงและผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาเซียน (ซึ่งถือเป็นเสาหลักของนโยบายต่างประเทศบรูไนฯ) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก การประชุมเอเชีย-ยุโรป กลุ่มประเทศเครือจักรภพ องค์การการประชุมอิสลาม และสหประชาชาติ ในระดับทวิภาคี บรูไนฯ พยายามเป็นมิตรกับนานาประเทศทั้งในด้านการค้าและการลงทุนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันประเทศ


                
หลักการดำเนินนโยบายต่างประเทศของบรูไน ฯ ที่สำคัญ ได้แก่ การเคารพในอธิปไตย อิสรภาพ และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศต่าง ๆ การยอมรับในสถานภาพที่เท่าเทียมกันของประเทศต่าง ๆ การไม่แทรกแซงในกิจการภายในซึ่งกันและกัน การแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธีและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน


                
การที่ประมุขของประเทศซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลเสด็จ ฯ เยือนประเทศต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองเพื่อสร้างบทบาทของบรูไน ฯ ในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้บรูไน ฯ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 


                
ในปี 2547 และ 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จ ฯ เยือนต่างประเทศบ่อยครั้ง เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ และเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบรูไน ฯ มีนโยบายต่างประเทศที่ต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น) ประเทศในตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดในอาเซียน นอกจากนี้ บรูไนฯ ได้เสริมบทบาทของตนในภูมิภาคมากขึ้นโดยได้ส่งกองกำลังเข้าสังเกตการณ์การหยุดยิงระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front– MILF) ในมินดาเนา และบรูไนฯ ยังได้ร่วมใน peace-monitoring mission ในจังหวัดอาเจะห์ด้วย


                
ในปี 2548 บรูไน ฯ มุ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่นำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (เช่น จีน) ให้มากขึ้น โดยรัฐบาลบรูไน ฯ คาดว่าจีนจะยังคงมีความต้องการพลังงานมากขึ้น รวมทั้งบรูไน ฯ จะเป็นทางเลือกที่จีนจะร่วมเป็นพันธมิตรในการสำรวจและพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติกับบรูไน ฯ นอกเหนือจากมาเลเซีย ขณะที่สิงคโปร์เล็งเห็นว่าบรูไน ฯ เป็นประเทศที่น่าสนใจที่จะเป็นทางเลือกในการหาแหล่งพลังงานสำรองในอนาคตเพิ่มเติมจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในปัจจุบัน


                
บรูไนฯ สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคีนิยม(multilateralism) โดยเฉพาะในการดำเนินการของประชาคมระหว่างประเทศภายใต้ “Millennium Goals” และมองว่าปัญหาที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้นและส่งผลกระทบในวงกว้าง ปัญหาที่เกิดในประเทศหนึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ด้วย ฉะนั้นการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคง ความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของสังคมระหว่างประเทศนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น